ชายผ้าสีดา ๒

Platycerium wallichii Hook.

ชื่ออื่น ๆ
ตองห่อข้าวย่าบา (เหนือ)
เฟิร์นอิงอาศัยขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นสั้น ใบทวิสัณฐาน ประกอบด้วยใบประกบต้นที่ไม่สร้างกลุ่มอับสปอร์ เจริญตั้งขึ้น รูปค่อนข้างกลม แผ่นใบหยักเว้าลึกเกือบถึงกลางใบ เกิดเป็นแฉกใบแคบ ๆ หลายคู่ใบที่สร้างกลุ่มอับสปอร์มีขนาดใหญ่ เจริญห้อยลง ขอบใบเว้าลึกเป็นคู่ ๆ เกือบถึงโคน แผ่นใบหนากึ่งอวบน้ำกลุ่มอับสปอร์เกิดต่อเนื่องติดกันเป็นพืด ระหว่างแฉกใบคู่แรก ๆ อาจแผ่ออกเป็นรูปครึ่งวงกลม มีขนรูปดาวไม่มีเยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์

 ชายผ้าสีดาชนิดนี่เป็นเฟิร์นอิงอาศัยอายุหลายปีขนาดเล็กกว่าชนิด Platycerium holttumii de Jonch. et Hennipman ลำต้นสั้น เส้นผ่านศูนย์กลางลำต้นประมาณ ๑ ซม. มีเกล็ดหนาแน่น รูปแถบ กว้างประมาณ ๐.๕ มม. ยาว ๐.๕-๑.๒ ซม. ขอบเกล็ดสีน้ำตาลอ่อน บริเวณกลางเกล็ดสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ

 ใบทวิสัณฐาน ประกอบด้วยใบประกบต้นที่ไม่สร้างกลุ่มอับสปอร์ เจริญตั้งขึ้น รูปค่อนข้างกลมกว้างและยาว ๔๐-๕๐ ซม. สีเขียว แผ่นใบอวบน้ำหรือเหนียวและหนาคล้ายแผ่นหนัง มีขนรูปดาวสีเทาหนาแน่นโดยเฉพาะใบอ่อน ใบประกบต้นอยู่ในแนวตั้ง ทำให้สามารถรองรับน้ำฝนและใบไม้แห้งที่ตกลงมาซึ่งจะกลายเป็นปุ๋ย ไม่มีก้านใบ ครึ่งล่างของใบชนิดนี่หนา ๑-๑.๕ ซม. โคนเบี้ยวและหยักเว้าคล้ายรูปหัวใจ มีสีเขียวอยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและแห้ง เรียงซ้อนกันและโอบติดอยู่กับต้นไม้ที่เกาะอยู่ แผ่นใบหยักเว้าลึกเกือบถึงกลางใบเกิดเป็นแฉกใบแคบ ๆ หลายคู่ รอยเว้าที่ลึกที่สุดอาจวัดได้ ๒๐-๒๕ ซม. แฉกใบแตกสาขาเป็นคู่มากกว่า ๑ ครั้ง ปลายแฉกมนกลมถึงแหลม ยาวมากกว่ากว้าง แผ่นใบส่วนล่างแผ่ออก ขอบใบเรียบถึงหยักเป็นคลื่น เส้นใบหลักเห็นชัด นูนทั้ง ๒ ด้าน แยกสาขาเป็นคู่ เส้นแขนงใบชั้นที่ ๑ และชั้นที่ ๒ สานกันเป็นร่างแห เห็นไม่ชัด แผ่นใบส่วนบนเนื้อใบบางใบที่สร้างกลุ่มอับสปอร์มีขนาดใหญ่ ไม่มีก้านใบเจริญออกมาครั้งละ ๑ คู่ คล้ายปีกผีเสื้อ ห้อยลงแต่ละข้างรูปสามเหลี่ยมหรือรูปพัด ยาว ๔๐-๘๐ ซม. โคนรูปลิ่ม ปลายใบแผ่กว้าง ขอบหยักเว้าลึกเป็นแฉกริ้ว แยกสาขาเป็นแฉกใหญ่ ๓ ครั้ง แฉกใหญ่แยกสาขาเป็นคู่ ๆ อีกหลายครั้ง แต่ละแฉกรูปแถบ กว้าง ๓-๔ ซม. ยาว ๑๒-๑๘ ซม. ปลายมน ขอบเรียบ แผ่นใบหนากึ่งอวบน้ำ สีเขียว มีขนสั้นสีขาวรูปดาวหนาแน่น นุ่มคล้ายกำมะหยี่ เส้นใบมีลักษณะคล้าย


เส้นใบของใบประกบต้น ในช่วงฤดูแล้งใบชนิดนี่จะเหี่ยวและบิดเป็นเกลียวตามยาว

 กลุ่มอับสปอร์เกิดต่อเนื่องติดกันเป็นพืดบนผิวใบด้านล่าง ระหว่างแฉกใบคู่แรกๆ อาจแผ่ออกเป็นรูปครึ่งวงกลม มีขนรูปดาวและมีอับสปอร์ที่เป็นหมันเกิดปะปนหนาแน่น ไม่มีเยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์อับสปอร์สร้างสปอร์แบบเดียว

 ชายผ้าสีดาชนิดนี่มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบเกาะตามต้นไม้หรือหินปูนที่ชื้นในป่าดิบแล้งหรือป่าผลัดใบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๙๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เมียนมา ตอนใต้ของจีนแถบมณฑลยูนนาน

 ประโยชน์ ปลูกเป็นไม้ประดับเช่นเดียวกับชนิดอื่น ๆ ในสกุลเดียวกัน แต่เป็นที่นิยมน้อยกว่าเพราะปลูกเลี้ยงได้ยาก เนื่องจากเป็นชนิดที่มีการพักตัวในช่วงฤดูแล้ง.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชายผ้าสีดา ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Platycerium wallichii Hook.
ชื่อสกุล
Platycerium
คำระบุชนิด
wallichii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Hooker, William Jackson
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1785-1865)
ชื่ออื่น ๆ
ตองห่อข้าวย่าบา (เหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ทวีศักดิ์ บุญเกิด และ ผศ. ดร.สหณัฐ เพชรศรี